ประเด็นร้อน

ยื้อตั้งอนุกก.ไต่สวน 'นาฬิกาหรู' หวั่นเพิ่มแรงกดดัน 'บิ๊กป้อม'

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2018

- - ขอบคุณข้อมูล ไทยโพสต์ - -

 

คอลัมน์ กรองสถานการณ์

 

หมดเรื่อง 13 เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และกลับออกมาสู่อ้อมอกผู้ปกครองอย่างปลอดภัยบรรยากาศภายในประเทศกลับสู่สภาวะปกติ สถานการณ์การเมืองที่ต้องหลบฉากให้ "ทีมหมูป่า" ถึงเวลากลับมาระอุเหมือนเดิม

 

ประเดิมความ "อัดอั้น" ด้วยประเด็น "นาฬิกาหรู" 22 เรือนของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุตส่าห์เอาไปแถลงความคืบหน้าตอนที่สถานการณ์ที่ถ้ำหลวงชุลมุน คงไม่มีใครมาสนใจ

 

แต่ที่ไหนได้ พวกที่ตามประเด็น "นาฬิกาหรู" เป็นประเภท จำแม่น พอกระแส "หมูป่า" เริ่มซา หยิบประเด็นมาขย่มใส่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ทันที

 

ลำพัง "เอกชัย หงส์กังวาน" และกลุ่มฝั่งตรงข้าม "ขาประ จำ" ยังพอทำเนา แต่หนนี้คนที่ออกมาจี้เองเป็นประเภท "เสียงดัง" ฟังมีน้ำหนัก

 

อย่างหน่วยงานต้านโกงภาคประชาชนในนาม "องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)" ที่เป็นกัลยาณมิตรเรื่องการทำงานด้านนี้มากับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการส่งคนเข้าไปเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ก่อนหน้านี้ ออกมา "ทวงถาม" ด้วยตัวเอง

 

มันเลยเป็นเรื่องที่กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้ง โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ว่า "ป.ป.ช." พยายามยื้อเรื่องนาฬิกาหรูของ "บิ๊กป้อม" เองหรือไม่

 

เพราะข้อติดขัดที่ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุคือ บริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาในประเทศไทยไม่ยอมให้ ข้อมูล จึงต้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประสานขอข้อมูลบริษัทแม่ที่ผลิตในต่างประเทศ เลยทำให้ไม่สามารถพิจารณาตั้งอนุกรรม การไต่สวนได้

 

เหตุผลของ ป.ป.ช.นี้เอง ทำให้เรื่องยิ่งบานปลายหนักกว่า เดิม เพราะสิ่งที่ ป.ป.ช.อ้างกลับเป็นอำนาจที่เขียนอยู่ในบทบัญญัติ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2542

 

เหมือนที่นาย "วิญญัติ ชาติมนตรี" เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้ข้อสังเกตเรื่อง "อำนาจ" ตรงนี้เอาไว้

 

ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 25 (3), 66 ประกอบมาตรา 43 มาตรา 118 ที่ให้ ป.ป.ช.มีหนังสือขอให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ การไต่สวนข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

หรือการยกคำอธิบายว่า กฎหมายไทยย่อมให้ใช้บังคับแก่ การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย รัฐสามารถ อ้างอำนาจเหนือบุคคลผู้ถือสัญชาติของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ อ้างอำนาจคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์สำคัญของรัฐ เพราะผู้แทนจำหน่ายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและกฎหมายไทย

 

ดังนั้น ที่ว่าเอกชนในประเทศไทยไม่ให้ข้อมูลตรงนี้ เหตุใด ป.ป.ช.จึงไม่อาศัย "อำนาจ" ดังกล่าวเพื่อขอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ สอดคล้องกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงใช้เวลาในการพิจารณาคดีนาน ทั้งที่คดีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ฝ่ายต่างๆ ที่ออกมา ต่างสงสัยว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วเป็นเพราะความตั้งใจที่จะ "ยื้อ" ออกไปหรือไม่มากกว่า

 

เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.แทบไม่เคยใช้เวลานานขนาดนี้ในชั้นของ "การแสวงหาข้อเท็จจริง" แต่นี่ล่วงเลยมาจะเป็นปีแล้ว แทบไม่ได้ขยับเขยื้อนไปจากวันแรกเสียเท่าไร หรือเพราะการตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จะส่งผลกระทบต่อตัว "บิ๊กป้อม" เนื่องจากมันจะส่งผลให้สถานะของ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์กลายเป็น "ผู้ถูกกล่าวหา" ทันทีตามกฎ หมาย

 

ถึงแม้กฎหมายจะถือว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ผลของการถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนสามารถกดดันรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นกว่าชั้นนี้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องแรงกดดันให้ "บิ๊กป้อม" หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าผลสอบจะออกมา

 

ป.ป.ช.อาจต้องมีคำอธิบายมากกว่าการบอกว่า "รอข้อมูล"

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw